บันทึกหลายความนึกคิดที่ผุดขึ้นมาในขอนแก่น

Chris
2 min readJun 24, 2023

June 24, 2023

วันที่ 23–25 มิถุนายน 2023 ได้โอกาสมาบรรยายในงาน Cloud Native ไทบ้าน ที่จังหวัดขอนแก่น แล้วก็ได้ถือโอกาสพันผ่อนที่จังหวัดนี้

จังหวัดขอนแก่นสำหรับเรา เป็นเมืองที่มีความสะดวกสบายแต่จังหวะยังไม่เร็วด่วนเท่ากรุงเทพ คือเรารู้สึกว่าเราใช้ชีวิตแบบกรุงเทพได้ระดับนึง เรียก Grab เดินทางไปไหนมาไหน หานั่งมอเตอร์ไซค์ไปทานข้าว มีร้านกาแฟ ร้านเหล้า มหาวิทยาลัย โรงเรียน ค่อนข้างจะมีความสะดวกสบายครบ ในแบบที่อาจจะหาความ Luxury เข้มข้นแบบกรุงเทพไม่ได้ แต่ก็ในความไม่ Luxury จ๋าขนาดนั้นก็กลับทำให้ที่นี่มีเสน่ห์

การมาอยู่ไม่กี่วันอาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าที่นี่เป็นอย่างไร แต่เรารู้สึกได้จากรถ ถนน และบรรยากาศของผู้คน อาจจะรู้สึกแบบมโนเองหรือจริงก็ไม่รู้หรอกนะ แต่ก็สัมผัสได้ว่าแม้ว่าจะเป็นการไปต่อคิวทานอาหารเช้าดังร้านหนึ่ง ผู้คนก็ดูไม่ได้เร่งรีบเคร่งเครียดมากนัก ทั้งผู้รอ และพนักงานดูแล

(ตรงนี้บางทีเราก็หงุดหงิดได้บ้าง อย่างเมื่อคืนที่ผ่านมาอาหารเสริฟช้ามากจนหิว ก็เลยเรียกพนักงาน เขาก็รับแต่ไม่ได้เร่งในครัวอะไรให้ สุดท้ายอาหารก็มาตามคิวจริงๆ แหละ คือโต๊ะก่อนเราได้ รอมาโต๊ะเรา คือไม่ได้มั่วหรือลืม ช้าเพราะเป็นลำดับของมันแล้วคนเยอะ ซึ่ง พนักงานเขากลับไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรกับสิ่งนี้)

การมาจังหวัดนี้เรามีความคิดหลายอย่างเกิดขึ้นที่จะขอลองบันทึกไว้ ขณะนั่งทานกาแฟในร้าน Inch & Ounce ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีการลำดับความสำคัญอะไร แค่บันทึกไว้เฉยๆ

Langchain

เมื่อวานได้บรรยายเรื่องการสร้าง App บน ChatGPT ด้วย LangChain สำหรับเรา Langchain เนี่ยเป็นเทคโนโลยีที่เหมือนมายากล มันทำอะไรน่าอัศจรรย์ได้หลายอย่างมากๆ เช่น ให้ ChatGPT ไปเรียก API ตอนแรกเราก็งงว่าทำได้ไงฟะ แต่พอไปแงะออกมาดูเฉลยว่ามันทำงานยังไง ผมรู้สึกเหมือนมายากลที่ว่า “อ้อ แค่นี้เองเหรอว้าาาา โถ่ววววว”

ผมคิดว่า Langchain มันดูน่าทึ่งดีนะ แต่กลับกันผมคิดว่าคุณค่าของมันในฐานะโปรแกรมเมอร์ที่อยากเก่งขึ้น ไม่ใช่การใช้งานมันอย่างเดียว แต่เป็นการไปอ่านเฉลยว่ามันทำเรื่องพวกนี้ได้ยังไง

และเหมือนมายากลตรงที่ว่าพอเรารู้ว่ามันทำงานยังไงเราก็ไม่ค่อย Hype ไม่ค่อยตื่นเต้น แต่กลับคนที่เห็นเดโมและเราทำให้ดูครั้งแรก จะมีความตื่นเต้นเยอะมากเลย จริงๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาส่วนตัวของผมในฐานะอาจารย์ผู้สอน และโปรแกรมเมอร์ คือ ความรู้ที่เรารู้และจได้แล้ว เรามักจะหมดความตื่นเต้นไปแล้วบางทีจะมองข้ามความสำคัญของมันไปได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่มันสำคัญมากสำหรับคนอื่นหลายคน

พี่รูฟและอีกหลายท่านคิดว่าน่าจะขยาย Session ไปเป็น Workshop จริงจัง ซึ่งก็น่าคิดอยู่ ผมคิดว่าจะสอนยังไงให้ความรู้นี้มันเป็นพื้นฐานที่ต่อยอดได้ดีนะเนี่ย หลายๆ ตัวมีทฤษฎีที่น่าสนใจอย่าง Embedding Search อยู่ภายใต้ ก็น่าสนใจและเป็นสิ่งที่ต่อยอดได้เยอะกว่าแค่เรียน Prompt เฉยๆ

และถ้าให้วิจารณ์ตรงๆ ผมอ่านโค้ดของ Langchain ผมคิดว่ามันเป็นโค้ดที่ Architect ไว้ไม่ดีเท่าไหร่ หนึ่งอาการที่เห็นได้ชัดเลยคือถ้าเราสร้าง Composition chain ตามที่เขาออกแบบและตั้งใจให้เราทำเนี่ย โอกาสพลาดเยอะมาก แม้แต่ Chain ของ Langchain เองก็มีอาการว่าใส่ Verbose ไปไว้ที่ราก Chain แล้ว Chain ย่อยไม่ได้รับเลยพิมพ์ Prompt ออกมาไม่ได้ อันนี้ตอนเดโมผมไปแฮคแก้ให้เขา อาจจะเปิด PR กลับไปทีหลังก็ดีนะ ผมคิดว่าเขาไม่น่าจะทำให้เรา Composite chain ผ่าน Inheritance กับสร้าง Chain ย่อยเองภายใน Constructor เลยจริงๆ เป็นจุดที่ออกแบบได้ไม่ดีนัก

จิตวิทยา

น่าประหลาดใจตรงที่วันแรกที่ผมมาถึง ผมออกไปดื่มที่ Cocktail Bar แห่งหนึ่ง ได้ยินคนคุยกันเรื่องการพบจิตแพทย์และปัญหาทางจิตวิทยา วันนี้ตอนเช้ามาทานข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ก็เจอคนคุยเรื่อง Enneagram จริงๆ จิตวิทยาเนี่ยเป็นเรื่องที่คนยุคใหม่น่าจะให้ความสนใจมาก

กลับกันผมคิดว่าหนังสือทางจิตวิทยาส่วนมากที่เรามีไม่ได้ถูกปรับให้เขากับยุคสมัยเท่าที่ควรจะเป็น

ถ้าใครตาม HealthyGamer.gg ซึ่งผมว่าเป็นแหล่งเรียนจิตวิทยาที่ปรับตามยุคสมัยที่สุดแล้ว Dr. K ที่เป็นเจ้าของเขาเชี่ยวชาญเรื่อง Addiction Psychiatry หรือการจัดการภาวะเสพติด เขาจะพูดอยู่เนืองๆ ว่ามันมี Research ใหม่ออกมาเรื่อยๆ ว่าอะไรที่เคยได้ผล แล้วไม่ได้ผลแล้ว อะไรที่ได้ผลในปัจจุบัน

ผมคิดว่าข้อผิดพลาดรวมๆ ของคนที่เรียนจิตวิทยาที่เจอบ่อย คือการอยู่กับทฤษฎีมากกว่าคนตรงหน้า คนรุ่นใหม่หลายครั้งเรียนจิตวิทยาโดยพยายามจะทำให้มันเป็นวิทยาศาสตร์ ใช้ Scientific Method เข้ามาช่วย ยิ่งผมเจอในอเมริกาที่เล่นในบอร์ดและดิสคอร์ดของ HealthyGamer.gg นี่เยอะมาก ซึ่ง ไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะ ผมคิดว่าดี แต่มันพังตอนที่เราไม่เข้าใจข้อจำกัดของ Scientific Method ว่ามันอธิบายอะไรได้ไม่ได้

จุดบอดใหญ่มีสองข้อ ก่อนจะไปลึกกว่านี้

  • Social Science ที่ทำผ่านการวิเคราะห์เชิงสถิติ มันใช้อธิบายภาพรวมได้ แต่ใช้อธิบายคนตรงหน้าไม่ได้
  • Social Science มีลักษณะที่ Observation อยู่ใน System in study ทำให้ทันทีที่เราค้นพบอะไรบ้างอย่าง ตัว System ก็เปลี่ยนไปตามการค้นพบของเรา ทำให้ไม่มีการค้นพบไหนใช้ได้ในระยะยาว ผมยกตัวอย่างว่าถ้าคุณ Observe ว่าของตกด้วยความเร่ง 9.8 m/sec² เงี้ย การค้นพบของคุณไม่มีผลต่อระบบฟิสิกส์ เพราะมันอยู่ภายนอกระบบ แต่ Social Study อย่าง Economic หรือ Psychology มันไม่ใช่ มันมี Thought experiment ว่าถ้าคุณตีพิมพ์เปเปอร์ทางเศรษฐศาสตร์ไปว่า หุ้นใหญ่ดีกว่าหุ้นเล็ก แล้วมีสถิติพิสูจน์ได้ถูกต้องเลยนะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้คืออะไรครับ คือทุกคนเห็นว่าโอ้วหุ้นใหญ่ดีกว่าหุ้นเล็ก ทุกคนแย่งซื้อหุ้นใหญ่ ทำให้ราคาพุ่งขึ้น สิ่งที่เป็นไปได้คือทันทีที่ตีพิมพ์เสร็จ ทุกคนอ่านเสร็จ ผลการทดลองเปลี่ยนเลย หุ้นเล็กดีกว่าหุ้นใหญ่ เลย อันนี้แหละคือตัวอย่างง่ายทีุ่สดที่ว่าทำไมเวลา Observation ของเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เราคิดแบบ Scientific method เพียวๆ ไม่ได้ และทุกความรู้ต้องอัพเดทอยู่เสมอ

การศึกษาจิตวิทยาเพื่อเสาะหา “สัจธรรมอันเที่ยงแท้ของมนุษย์” เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ผมคิดว่าไม่ว่าเราจะมีสัจธรรมอันเที่ยงแท้ที่อธิบายมนุษย์ได้ หรือไม่มี การพยายามหาทำให้เรายิ่งหาไม่เจอ

เราคิดว่ายิ่งคนสนใจจิตวิทยาเพิ่มขึ้น ผมอยากให้จิตวิทยาสายเยียวยาเป็นที่นิยมและแพร่หลาย กว่าจิตวิทยาสายการจัดการ

เรื่องนึงที่ผมสอนเสมอก่อนไปจัดการคนอื่น ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราจะจัดการคนอื่นไปเพื่ออะไร มันมีความหมายยังไงกับตัวเรา และสิ่งน่ี้มันมักจะไม่ถูกสอนในจิตวิทยาการจัดการ

ยกตัวอย่างว่า เราอาจจะใช้ทริกจิตวิทยาหลอกล่อให้ลูกของเราให้มีพฤติกรรมที่เราต้องการในเวลานั้นได้ แต่เราอาจจะฝังแผลไว้ในลูกตัวเองที่เขาต้องไปตลายทรอม่าเมื่อโตขึ้น หรือผิดหวังกับเราอย่างมากเมื่อเขารู้ว่าเราทริกเขา เราโอเคเหรอที่จะ “จัดการ” แบบนั้น การทำอะไรแบบนี้ได้ผลลัพธ์จริง แต่ ผลลัพธ์ในเชิงพฤติกรรมและผิวเผินแบบนั้นมันคือสิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว

การฝังแผลไว้ในตัวลูกอาจจะจำเป็นก็ได้ ผมไม่ตัดสิน แต่เราเข้าใจแล้วเหรอว่าเรายอมจ่ายขนาดนั้นเพื่ออะไรกันแน่ หรือเราแค่แบบ “เห้ย น่ี่มันไม่ได้” แล้วก็ไปลงเรียนจิตวิทยามาแก้ไข โดยที่ไม่เคยสำรวจว่าไอ้ความ “ไม่ได้” ของตัวเรามันมาจากไหนกันแน่

ถ้าเราไม่เข้าใจความเคยชินพวกนี้ในตัวเอง ยิ่งมีและใช้ทักษะในการจัดการคนอื่นมากขึ้นเท่าไหร่ อาจจะยิ่งทำร้ายและกัดกร่อนชีวิตตัวเองมากขึ้นก็ได้นะ Be careful what you wish for

Asian Parent ที่ใช้ทริกทางจิตวิทยามากมายทำให้ลูกไปสอบหมอได้ตามที่ใจตัวเองหวัง แต่ลูกเรียนจนเครียดฆ่าตัวตาย เขาจัดการคนอื่นเก่งมั้ย ก็อาจจะ ทำให้สิ่งที่เขาต้องการเกิดขึ้นได้แล้วนี่ คำถามคือ สมใจมั้ยล่ะครับ

มันจะดีกว่ามั้ยถ้าเขาเข้าใจตัวเองก่อนจะ Deploy Psychology Trick กับลูกตัวเอง

ในงาน Agile ที่ผ่านมาตอนที่ผมพูดเรื่องจิตวิทยา คนก็สนใจเยอะเช่นกัน จริงๆ จิตวิทบาเป็นศาสตร์ที่ผมหวังว่าในอนาคตจะเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรา โดยเฉพาะจิตวิทยาที่ทำงานกับ Self-awareness ของตัวเอง

Crisis of purpose

ผมเห็นคนในเฟซแชร์งาน CTC ที่กล่าวถึง Passion กับการลาออกของคนเยอะมาก ผมคิดว่าเรามี Crisis of Purpose

ผมคิดว่าสิ่งที่เราเจอในปัจจุบันจริงๆ แล้วคือโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และเป้าหมายโรแมนติคแบบเดิมๆ ก็ดูจะทั้ง Unachiveable และ Not desirable คนในยุคใหม่ไม่ได้อยากรวยเท่าคนในเจนผมและเจนก่อนหน้าผม หลายๆ คนเขาอยากทำในสิ่งที่เขาอยากทำโดยที่มี Safety net รองรับให้ชีวิตเขาไม่แย่เกินไป

มันเป็นคำขอที่เกินไปมั้ย ก็ไม่รู้ ผมตอบยาก แต่ผมรู้ว่าคำตอบในอนาคตไม่ใช่การใช้การแข่งขันบน Capitalizm จูงใจ เพราะมันจูงใจคนเหล่านี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต่อให้จะเอางานวิจัยสาย Neoliberal มาบอกว่าในปี 19xx เราพบว่ามันดีที่สุดและโลกเราดีขึ้นเสมอมาเพราะการแข่งขัน คำถามคือ มันอัพเดทพอที่จะใช้ในปัจจุบันและอนาคตได้มั้ยล่ะนั้น (อาการของคนที่ไม่เข้าใจว่า Scientific method ใช้กับ Social Science แบบนั้นไม่ได้ งานวิจัยพวกนี้การันตีความสามารถในการทำซ้ำไม่ได้)

แต่เราอยู่ในสภาวะที่ทุกคนต้องหา Purpose ของตัวเองเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ เราจะต้องตาม Passion ขนาดไหน หรือจะปล่อยให้โลกบังคับ หรือจะเอาแค่พออยู่รอด หรือยังไง มันไม่มีคำตอบ อิสระในโลกปัจจุบันมาพร้อมกับความหวาดกลัวและสับสน มันเป็นด้านกลับของเหรียญของกันและกันเสมอ

โลกภายในและโลกภายนอก กว้างกว่าที่ผมคิดไว้

ไม่ว่าผมจะคิดกว้างขนาดไหน โลกก็จะกว้างกว่าที่ผมมีปัญญาคิดได้เสมอ

ในโลกภายใน หลายๆ อย่างที่ผมคิดว่าไม่มีใครสนใจหรอก ก็มีคนสนใจเสมอ Langchain นี่ส่วนตัวผมอ่านเฉลยแล้วรู้สึกว่าอ้อแค่นี้เอง ก็เป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก

การท่องเที่ยวแบบนั่งรถแกร็บในเมืองไปในร้านกาแฟที่ไม่ต่างกับกรุงเทพมากนัก ก็ไม่ได้แย่

ตอนผมเปิดคอร์ส Humanistic Architecture ผมก็ไม่เคยนึกมาก่อนว่าคนจะสนใจความบ้าของผมที่เอางานจิตวิทยาเยียวยามาใช้ในการออกแบบ Software Architecture แต่ก็ยังมีคนสนใจเรียนเรื่อยๆ

ผมรู้สึกว่าตัวเองค่อนข้างจะเข้มงวดกับตัวเองในบางแง่มุมโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผมมักจะเชื่อว่าเรื่องที่ผมสนใจหรืออยากพูดน่าจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับคนอื่น

(ซึ่งทำให้ผมเขียนเยอะกว่าพูดด้วยแหละ เพราะผมอาจจะทนรับสีหน้าน่าเบื่อหรือเปลี่่ยนเรื่องเถอะของคนอื่นได้น้อย และก็ทำให้ฝึกพูดฝึกพรีเซนท์เยอะ)

บางครั้งเราก็เห็นตัวเราเองใหญ่และสำคัญกว่าที่เป็น บางครั้งเราก็เห็นตัวเองเล็กน้อยกว่าที่เป็น

การแข่งขันกับความไม่พอเพียงอาจจะไม่ได้ขัดกันในตัวมันเอง

ขีวิตที่พอเพียงอาจจะไม่มีจริง แต่ความไม่พอจำเป็นต้องมาจากการแข่งขันและเปรียบเทียบมั้ยนะ

วันนี้ผมมาขอนแก่น ผมพอใจกับการต้อนรับขับสู้ของเจ้าภาพมากๆ ผมพอใจกับอาหารของหลายๆ ที่ ผมพอใจกับร้าน Cocktail bar ที่ผมได้ไป ผมพอใจกับบรรยากาศร้านกาแฟที่เขียนบล็อกนี้อยู่

แต่ถามว่าผมจะพอกับการอยู่ที่ตรงนี้ไปตลอดมั้ย ผมก็ว่าไม่นะ ผมเบื่อง่าย

แต่กลับกัน คำว่าไม่พอของผมคือต้องหาของที่ “สุดกว่า” “ดีกว่า” อยู่เรื่อยๆ มั้ย

เอ๊ะ เดี๋ยวก่อนนะ คำว่าดีกว่ามีความหมายยังไงกันแน่นะ?

มันหมายถึงเราต้องไปในที่ที่คนรีวิวเยอะกว่า หรือราคาแพงกว่า Luxury มากกว่า เป็นที่โอ้โหลือชาหรือหวือหวาต่อหน้าคนอื่นมากกว่าเหรอ นั่นหรือคือความดีกว่า

จริงๆ การเดินเล่นหรือนั่งรถเล่นในเมืองขอนแก่นนี่มันมีอะไรดีกว่าในกรุงเทพมั้ย ก็อาจจะแค่รถไม่ติด จำนวนสถานที่ที่น่าไปยังน้อยกว่าเลย แต่ผมก็พอใจกับมันได้

ผมรู้สึกว่าประสบการณ์ในโลกนี้มันกว้างขวางมาก สิ่งที่เราพอใจอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ “ดีกว่า” ในมาตรฐานเส้นวัดใดๆ ของโลก

คำว่าไม่พอเพียงคือต้องเสพประสบการณ์ที่ดีกว่าบนเส้นวัดเส้นเปรียบเทียบบางอย่างเสมอไปมั้ย ผมพบว่าสำหรับผม ก็ไม่เสมอไปนะ

ความไม่พอเพียงอาจจะเป็นแค่การหา Variety ความหลากหลาย โดยที่ไม่จำเป็นจะต้อง “ดีกว่า” หรือแม้แต่ “ใช่กว่า” ด้วยซ้ำไป

เวลาเราพูดถึงความพอเพียงเรามักจะมีภาพว่าคนไม่พอเพียงคือ Strive for the better จะปีนสูงไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่พอเพียงคือคนที่โอเคกับสิ่งเดิมๆ แต่คำว่า Better มาจากไหนกันนะ

แล้วเราไม่ค่อยมองเห็นความเป็นไปได้ที่คนที่ไม่พอเพียง อาจจะแค่ต้องการ Variety ความหลากหลายบางอย่าง ที่ไม่มีอะไรดีกว่า แย่กว่า แค่ทุกอย่างมัน Unique ในตัวมันเอง

สเต็กไม่ได้อร่อยกว่าปลาเผา และปลาเผาก็ไม่ได้อร่อยกว่าสเต็ก

การที่ผมไม่พอเพียงอยู่ที่การกินสเต็กทุกวัน 3 มื้อต่อวัน และไขว่คว้าหาปลาเผาและอาหารอย่างอื่น ไม่จำเป็นต้องสะท้อนว่าปลาเผาและไข่เจียว ดีกว่าหรือไม่ดีกว่าสเต็กแต่อย่างใดนี่นา

เมื่อไหร่กันนะที่เราทำให้ความพอเพียงกับการแข่งขัน (ดีกว่า สูงกว่า มากกว่า) กลายเป็นขั้วตรงข้ามของกันและกัน ทั้งๆ ที่จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่ขั้วตรงข้ามใดๆ เลยก็ได้นะ

--

--

Chris

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.