จุดร่วมของการทำงานโลกภายใน

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
2 min readApr 16, 2024

--

ส่วนตัวผมเป็นคนที่ศึกษาศาสตร์เชิงจิตบำบัด การทำงานกับโลกภายใน และการทำงานของมนุษย์มาหลายสายพอสมควร ทั้งในแง่ของทฤษฎีและปฏิบัติ ถ้าจะลิสต์ออกมาก็คงจะมี

  • Enneagram
  • Satir
  • Voice Dialogue
  • Responsibility Process
  • Coaching (inspired by CBT)
  • Yogic Meditation
  • Attachment Theory
  • พุทธศาสนา

บางศาสตร์ผมอาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญมาก อาจจะรู้เพียงผิวเผิน บางศาสตร์ผมก็ใช้มันจนกลายเป็นส่วนนึงของชีวิตประจำวันไปแล้ว

แต่ทีนี้หลังจากได้ศึกษามามาก ผมพบทั้งจุดร่วมและจุดต่างหลายอย่างที่อยากจะขอแชร์และแบ่งปัน

และการตกผลึกนี่เป็นสิ่งนึงที่ทำให้ผมเชื่ออย่างเบื้องลึกจากใจจริงๆ ว่า

“เส้นทางเชิงจิตวิญญาณของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

ผมได้เขียนเรื่องนี้คร่าวๆ ไว้ใน Personal Psychology ว่าแต่ละคนมีประเด็นต่างกัน

แต่ผมอยากจะขยายอีกส่วนที่ให้เห็นถึงความต่างและจุดเชื่อมที่ชัดเจนขึ้น

ผมพบว่าจุดเชื่อมของศาสตร์พวกนี้ทั้งหมดมีข้อเดียวครับคือ

Raise Self-awareness ให้มาก แล้วคุณจะพบคำตอบของคุณเองจากโลกภายใน

ถนนทุกสายในเชิงจิตวิญญาณพุ่งมาทางนี้หมดครับ

แต่จุดที่แตกต่างกันมากๆ ในแต่ละศาสตร์คือ วิธี ถนน และประเด็นที่คนจะต้องก้าวข้ามในการเพิ่ม Self-awareness

Disclaimer: ทั้งหมดนี้เป็นการตีความของผมซึ่งผู้เชี่ยวชาญอาจจะมาถกเถียงได้นะครับ และผมจะสรุปวิธีการมองของแต่ละศาสตร์อย่างสั้นๆ ดังนั้นมันจะขาดความละเอียดอ่อนอย่างมาก และไม่สามารถสะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของแต่ละศาสตร์ได้

(หรือพูดง่ายๆ คือ มันเป็นมุมมองเชิงตรรกะล้วนๆ แต่การจะเข้าใจศาสตร์ทุกศาสตร์นี้ได้มุมมองเชิงตรรกะอย่างเดียวไม่พอ ถึงกระนั้นแล้ว การเข้าใจมุมมองเชิงตรรกะนี้จะทำให้เข้าใจว่าทำไมศาสตร์ทุกศาสตร์ถึงลู่เข้าสิ่งเดียวกัน)

Enneagram จะมองว่าคนเรามี Ego Pattern ประมาณ​ 9 แบบหลักๆ ที่เราจะตกลงไปจนเป็นหล่ม และการพัฒนาตัวเองคือมองเห็น Ego Pattern พวกนั้น และมี Self-awareness มากพอที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้ Ego Pattern เดิม

อย่างเช่น ส่วนตัวผมเป็น Type 7 ผมจะมองหาความสนุกสนานตลอดเวลา มันเป็น Ego Pattern และบางครั้งการมองหาความสนุกสนานก็จะกักขังผมไว้ บางทีจะไปเจอสถานการณ์ที่อีโก้กรีดร้องว่า เบื่อว้อย เบื่อว้อย เบื่อว้อย แล้วพยายามคิดหนีออกจากสถานการณ์ตรงหน้าไปหาอะไรที่น่าสนุกกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ ถ้ามีสติกลับมา จริงๆ การอยู่กับความเบื่อก็เป็นทางเลือกที่เราเลือกได้ และอาจจะมีประโยชน์กับเราด้วยซ้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (เช่น การทำสมาธิที่ผมเริ่มฝึกฝนมาระยะนึงแล้ว) ฃและใน Enneagram ก็จะมี Pattern แบบนี้ที่คนมักจะตกหล่มจนไร้สติ 9 แบบ ให้ศึกษา

Satir จะมองว่าคนเรามีศักยภาพจากภายในอยู่แล้วที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเองในเบื้องลึกได้บนทรัพยากรที่เรามีในปัจจุบัน แต่เหตุการณ์ในอดีตหรือความเชื่อบางอย่างอาจจะขัดขวางมิให้เราสามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ และการเยียวยาคือการเข้าไปสัมผัสมีสติรับรู้ความต้องการเบื้องลึกนั้น และเลือกใช้ความเชื่อ มุมมอง ความคิด ความรู้สึก ที่สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างสอดคล้องกัน

อย่างเช่น บางคนอาจจะเป็นคนต้องการการยอมรับโดยธรรมชาติ แต่อยู่ในสังคมหรือครอบครัวที่สั่งสอนว่า “คนหิวแสงมากๆ นี่ดูแย่เนอะ คนมันจะหิวแสงกันไปทำไมไม่เห็นจะมีสาระอะไรเลย” ทำให้พยายามทำตัวไม่เด่น จนแสวงหาการยอมรับที่ขาดหายไปไม่ได้ ซึ่งพอเขาสามารถทำงานจนมีสติเข้าไปสัมผัสกับความต้องการการยอมรับได้ เขาสามารถบำบัดจุดเริ่มต้นของความเชื่อนั้นได้ เขาก็จะสามารถแสวงหาการยอมรับที่เขาขาดหายไปทั้งชีวิตได้

Voice Dialogue จะมองว่าคนเรามีทั้งตัวตนด้านที่เป็น Identity และก็ Shadow และทุกๆ ครั้งที่เราสร้างตัวตนของเราให้แกร่งขึ้นด้านใดด้านนึง เราก็จะผล้กไส Shadow เราออกไปเสมอ ซึ่งมันก็จะเวิร์คแหละ จนกระทั่งวันนึง โลกอาจจะบังคับให้เราต้องดึง Shadow self ที่เราทอดทิ้งไปในอดีตกลับมา เราต้องมีสติพอจะโอบรับมันไว้

อย่างเช่น บางคนอาจจะมีตัวตนเป็น “คนขยันขันแข็ง” หากเขาสร้างตัวตนนั้นจนแข็งแกร่งเกินไป เขาก็อาจจะทอดทิ้งความเป็น “คนสบายๆ” ออกไปจากชีวิต โดยตีตราว่า “สบายๆ” คือ “ความขี้เกียจ” และวันนึงชีวิตจะเรียกร้องให้เขาต้องพักผ่อน อาจจะโดนไล่ออก อาจจะเบิร์นเอาท์ หรือใดๆ ก็ตาม และในเวลาวิกฤติชีวิตนั้นเกิดขึ้น ถ้าหากคนๆ นั้นไม่มีสติพอ เขาจะไม่ยอมโอบรับความเป็นคนสบายๆ กลับมาในชีวิตของตัวเอง เพราะ “ฉันเป็นคนขยัน ไม่ใช่คนขี้เกียจ” และแน่นอนว่าการรักษาตัวตน “คนขยัน” ในวันที่เบิร์นเอาท์แล้วก็คงมิใช่คำตอบของชีวิต

และในทางตรงกันข้าม คนที่โอบรับความเป็น “คนสบายๆ” ไว้ในชีวิตจนแข็งแกร่งเกินไป เขาอาจจะถูกสอนแต่เด็กว่า “คนจริงจัง” มันไม่น่าอยู่ใกล้ มันเครียด มันตึง จากพ่อแม่ครอบครัว หรือใดๆ ในวันที่เขาต้องใช้ตัวตนของ “คนจริงจัง” เขาก็อาจจะใช้ไม่ได้ ถ้าหากไม่มีสติพอ

Responsibility Process จะมองว่าคนเราเวลาที่เจออุปสรรค เราจะผ่านขั้นตอน 5 ขั้นตอนหลัก คือ Blame, Excuse, Shame, Obligation ไปจนถึง Responsibility ซึ่งในขั้นตอนอื่นๆ เราไม่มีสติในการเลือกว่าจะตอบสนองอย่างไร ต่อให้เราใช้ Obligation ว่าเราพลาดไปแล้ว เราจะแก้ไขโดยการทำหน้าที่ของเรา ก็คือเราก็อาจจะทำเป็น Automatic Response แทนที่จะได้พิจารณาด้วยสติที่แท้จริง

เช่น บางคนเวลาทำซอฟต์แวร์พัง ตอนแรกก็อาจจะเริ่มจากโทษคนอื่นก่อนว่าใครทำพังวะไม่น่าใช้ของเรานะ (Blame) ซักพักอาจจะมีข้ออ้างว่าเอ้อมันยังงั้นยังงี้ ก็โดนเร่งมา (Excuse) ซักพักอาจจะเริ่มโทษตัวเองว่าฉันมันเลวฉันมันไม่เหมาะกับการเป็นโปรแกรมเมอร์อีกต่อไปแล้ว (Shame) ซักพักอาจจะเริ่มมองเป็นหน้าที่ว่า โอเค พังแล้ว เรามีหน้าที่ต้องซ่อม ก็ซ่อมๆ ไปให้มันจบๆ ไหนดูสิปกติซ่อมแล้วต้องทำไง ก็ทำตามนั้นอ่ะ ให้มันจบๆ ไป Rollback, เขียนเทส ก็ทำๆ ไป (Obligation)

จนกระทั่งเขามีสติพอที่จะมองว่า เอ้อ นี่มันก็คืองานพัง ไม่มาก ไม่น้อยไปกว่านั้น เราจะตอบสนองกับเหตุการณ์นี้ยังไง ถ้าแก้ไข วิธีแก้ไขแบบไหนที่ดีที่สุดนะ ถ้าต้องออกไปขอโทษชดเชยคนอื่น เราจะออกไปขอโทษคนอื่นยังไงดีที่สุดนะ หรือแม้แต่ถึงเราจะผิดเราขอความช่วยเหลือใครได้มั้ยนะ ตอนนั้นเขาถึงจะมี Responsibility ที่แท้จริง

Yogic Meditation กับพุทธ อาจจะมีจุดร่วมกันตรงที่เน้นการสังเกตและทำงานกับความคิดที่เกิดขึ้น กับสติที่เกิดขึ้น ตรงนี้รายละเอียดจะเยอะมากจนอาจจะสรุปสั้นๆ ไม่ได้เสียทีเดียว แต่เส้นทางจะเริ่มต้นจากการมีสติรับรู้ความคิดและ Perception จนแยกได้ระหว่างตัวตนละเอียด ข้อเท็จจริง และสิ่งสังเกตปรุงแต่งต่างๆ

จะเห็นว่าถนนทุกสายของการทำงานภายใน ทั้งตะวันตก ตะวันออก ต่างมีจุดร่วมปลายทางที่เดียวกันเสมอ

คือมีสติกับตัวเองเข้าไว้

แต่ประเด็นที่แต่ละศาสตร์นำเสนอว่าเป็น “อุปสรรค” ต่อการมีสติที่แท้จริงนั้นจะแตกต่างกันมาก

  • Enneagram เชื่อว่าอุปสรรคใหญ่สุดมาจาก Ego Pattern หนึ่งในเก้าแบบ
  • Satir เชื่อว่าอุปสรรคใหญ่สุดมาจาก Trauma และ Unuseful Belief ที่ถูกปลูกฝังจากประสบการณ์ที่เติบโตพบเจอมา
  • Voice Dialogue เชื่อว่าอุปสรรคใหญ่สุดมาจากตัวตน Identity ที่เราสร้างขึ้นจนแข็งแกร่งเกินไป
  • Responsibility Process เชื่อว่าอุปสรรคใหญ่สุดมาจากขั้นตอนอัตโนมัติ 5 ขั้นตอนที่ได้กล่าวถึง
  • Yogic Meditation และพุทธ เชื่อว่าอุปสรรคใหญ่สุดมาจากจิตปรุงแต่งอันเกิดจากความคิด

ก็จะเห็นว่าแต่ละศาสตร์จึงมีเส้นทางการทำงานเพื่อไปสู่สติที่ไม่เหมือนกัน มีการขับเน้นประเด็น ลดทอนประเด็น ที่แตกต่างกันมาก

แต่ทุกสายมุ่งเข้าหาจุดเดียวกันคือ “สติขั้นสูง”

ผมไม่รู้หรอกว่าอุปสรรคใหญ่สุดในการสัมผัสกับสติละเอียดชั้นสูง ของท่านผู้อ่านแต่ละท่านคืออะไร แต่ละคนคืออะไรกันแน่

และผมเห็นศาสตร์ที่ได้ผลกับคนนึง ไม่ได้ผลกับอีกคนนึง มานักต่อนักแล้ว

และนั่นทำให้ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า

“เส้นทางทางจิตวิญญาณของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

ในเรื่องนี้ผมขอบคุณโลกนี้สามเรื่อง

  1. ผมขอบคุณที่เส้นทางการเติบโตของผมเริ่มต้นที่ Enneagram ที่ทำให้เห็นประเด็นนี้ชัดเจนที่สุด เพราะเส้นทางการไปสู่สติขั้นสูงขึ้นของ Enneagram แต่ละไทป์ ต่างกันอย่างชัดเจน
  2. ผมขอบคุณภรรยาที่เดินร่วมทางการเติบโตทางจิตวิญญาณนี้มาด้วยกัน ทำให้ผมเห็นชัดเจนมากๆ ว่าเวลามันต่าง มันต่างจริงๆ บางประเด็นที่เป็นปัญหาสำหรับผมไม่เป็นอะไรเลยสำหรับเขา และตรงข้าม บางประเด็นที่เป็นปัญหาสำหรับเขากลับเป็นอะไรที่ผมก้าวผ่านได้ไม่ยากเย็นเลยซักกะนิด
  3. ผมขอบคุณอาจารย์และเพื่อนร่วมทางทุกท่านที่แบ่งปันความรู้ในแต่ละศาสตร์ให้ผมได้เข้าใจ

เส้นทางทางจิตวิญญาณที่ผมเลือกให้ตัวผมนั้น ผมผสมผสานหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน และผมยินดีที่จะแบ่งปันเสมอ อันไหนใช้ได้ผลกับท่าน ก็เก็บไป อันไหนใช้ไม่ได้ผล ก็ทิ้งไปเสีย

ผมหวังว่าทุกท่านจะได้เจอเส้นทางที่ใช่ของตัวเองนะครับ

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.