Personal Psychology

Chris
Chris’ Dialogue
Published in
1 min readOct 22, 2023

--

ผมนึกถึงที่วินเคยรีวิวคอร์สผมไว้อันนึงว่า

“พี่คริสรับฟังและคุยกันอย่าง Constructive มากๆ ผมคิดว่าผมเป็นคนที่จับความรู้สึกคนได้ไวมากๆคนนึงนะ แต่ผมไม่สัมผัสถึงความรู้สึกไม่โอเค หรือไม่พอใจจากพี่คริสเลยแม้แต่นิดเดียว คือแว่บเดียว หรือหางตานิดเดียวก็ไม่มี รับรู้ได้และไม่ผิดหวังเลยว่าพี่คริส Empathy จริงๆ”

ส่วนตัวผมเชื่อว่าเรียนเรื่องจิตวิทยาเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ ในคอร์สที่ผมสอนผมก็สอนตลอดว่า จิตวิทยาที่ผมสอนที่เอามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบเนี่ย ผมอยากให้สนใจว่ามันมีประโยชน์กับคุณมั้ย ถ้ามันมีก็ใช้ ไม่มีก็ถอนออก จนมีสโลแกนที่ประกาศก่อนเสมอว่าการเรียนของเรานั้นใช้หลักการ

Usefulness over Accurate

จนกระทั่งวันนึงผมได้ยิน Dr.K ซึ่งเป็นจิตแพทย์ที่ผมติดตามอยู่ได้พูดเรื่องนึงที่ช่วยให้ผมตกผลึกมากขึ้นกับแนวคิดของผม เขาบอกว่า

Sprituality is Personal Psychology

ถ้าเราพูดถึงเศรษฐศาสตร์การเงิน มันมีเศรษฐศาสตร์การเงินที่คุณต้องเรียนรู้เพื่อทำงานในสเกลใหญ่ หรือเป็นนักลงทุนในกองทุนต่างๆ ซึ่งพวกนี้เรียกว่า Macroeconomics ก็จะพูดถึงการลงทุนในสเกลใหญ่ การจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ตรงกับที่เราประกาศในกองทุน การออกนโยบายการเงินระหว่างประเทศโน่นนี่นั่น

แต่อีกสายของการเงินที่สำคัญมากๆ คือ Personal finance

Personal finance จะพูดถึงเรื่องของเป้าหมายส่วนบุคคล การรับความเสี่ยงส่วนบุคคล การออกแบบชีวิต

ถ้าเราพร้อมจะดูกราฟทุกวัน กับเราอยากลงทุนแล้วใช้ชีวิต กลยุทธ์การลงทุนก็จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ปัจจัยชีวิตของเราคืออะไร เราตั้งใจจะมีครอบครัวแบบไหน เรามีภาระอะไรบ้าง เรามีเป้าหมายตรงไหน พวกนี้กระทบกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคลหมด

และการบริหารการเงินส่วนบุคคล มันแตกต่างกับการเป็นผู้บริหารกองทุนเป็นอย่างมาก

เขาบอกว่าจิตวิทยาก็เหมือนกัน

ต้องบอกก่อนว่า ทฤษฎีจิตวิทยาที่ใช้ในการจัดการหรือบำบัด ทั้งสำหรับคนทั่วไป และสำหรับการรักษาคนที่มีอาการป่วยทางจิต ต่างเป็นจิตวิทยาที่วิจัยในระดับสเกลทั้งสิ้น

ถ้าคุณอ่านพวกทฤษฎี Sigman Freud หรือ Maslow แม้แต่กลไกสมองในการสร้าง Depression ทุกอันมันคือฟอร์มที่มีประโยชน์กับการทำงานในสเกลใหญ่

ซึ่งจริงๆ แล้ว Personal Psychology มันแตกต่างกันอย่างมาก

ผมเคยเขียนไว้ในบล็อก Defense mechanism ของคนเราไม่เหมือนกัน และธีมนึงที่สำคัญมากในบล็อกนั้นคือ แต่ละคนมีประเด็นในใจที่แตกต่างกันทั้งสิ้น ก็เลยตามมาด้วยกลไกการป้องกันทางจิตใจที่แตกต่างกัน

จริงๆ การลงลึกไปในจิตวิทยาก็เป็นแบบนั้น

แต่ละคนมีปมในใจไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน และมีประเด็นสถานการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันมาก

ดังนั้นจิตวิทยาที่ “ได้ผล” กับแต่ละคน จึงไม่ใช่ตัวเดียวกันเลย

ส่วนตัวผมเรียนจิตวิทยามาหลายแบบ ตั้งแต่ DISC, Enneagram, Satir, CBT บ้างเล็กๆ, Responsibility Process, Voice Dialogue, Attachment Theory

แต่ตัวที่ผมมาใช้แล้วรู้สึกว่าได้กับตัวผมเองมากๆ คือ Satir, Enneagram และ Voice Dialogue

แม้แต่เรียน Enneagram เอง ก็มีสายที่ผมเรียนแล้วผมรู้สึกว่าไม่เวิร์คกับผมเอง และสายที่ผมคิดว่าเวิร์คกับผมมากๆ

ซึ่งผมเองก็เห็นตรงข้ามในคนอื่น ผมเห็นคนที่ไม่ได้ประโยชน์จากการเรียน Enneagram ในลักษณะที่ผมเรียนแต่ดันไปได้ประโยชน์จากเรียนในสายที่ผมไม่อินเลย ก็เยอะ

ดังนั้นผมจึงบอกว่าแต่ละคนถ้าได้ประโยชน์จากอะไร ก็เอาอันนั้นเป็นสรณะไปเถอะ

ถ้าเชื่อในพระเจ้าแล้วทำให้ชีวิตของคุณดี ผมเป็นใครจะไปบอกว่าคุณโง่ได้ล่ะ หรือแม้แต่ผมมีสิทธิ์ที่จะบอก ผมจะทำไปเพื่ออะไรกันล่ะ

Personal Psychology ก็เหมือน Personal Finance

แต่ละคนมีเป้าหมายชีวิตไม่เหมือนกัน ภาระไม่เหมือนกัน รับความเสี่ยงได้มากน้อยต่างกัน และมีจุดเด่นจุดแข็งนิสัยทางการเงินแตกต่างกัน ดังนั้น แผนการลงทุนของแต่ละคนจึงต้องแตกต่างกัน ตามลักษณะของคนนั้น

Personal Psychology ก็เช่นกัน แต่ละคนมีปมที่แตกต่าง มีประเด็นกับครอบครัวตัวเองคนละประเด็น ประเด็นกับงานคนละประเด็น ประเด็นกับเพื่อนคนละประเด็น ประเด็นกับความสำเร็จ ความสุข คนละประเด็นกัน

ดังนั้นจิตวิทยาที่แต่ละคนจะถือเป็นสรณะ ก็ไม่แปลกที่จะคนละตัว

อย่างส่วนตัวผมไม่รู้สึกอินกับจิตวิทยาประเภท “พุ่งเป้า ใฝ่สำเร็จ” เพราะผมรู้สึกว่าผมไม่มีปัญหาอะไรใหญ่โตมากนักกับการพุ่งไปสู่ความสำเร็จ ผมมีปัญหากับการหาว่าความสำเร็จแบบไหนจะเติมเต็มได้

แต่สำหรับคนที่มีประเด็นแบบอื่น จะชอบจิตวิทยาส่วนบุคคลแบบนั้นผมก็เข้าใจได้

ทีนี้ตรงนี้มันรวมไปถึงพวก Self help book ด้วย

ไม่ว่าคุณจะอ่าน Grit, Think again, Atomic Habit หรือหนังสือ Self help เล่นไหนเล่มใดๆ ก็ตาม (หรือแม้แต่ชีวประวัติคนเคยประสบความสำเร็จที่ออกมาสอน)

อยากให้จำไว้ว่า มันจะมีอันที่เวิร์คกับคุณ และอันที่ไม่เวิร์คกับคุณ อันที่เวิร์คกับคนอื่น และที่ไม่เวิร์คกับคนอื่น

ผมอยากชวนให้วางความยึดติดลง ว่าสิ่งที่ได้ผลกับเราจะได้ผลกับคนอื่น จนยัดเยียดแผน

เวลาที่เราบอกว่า คุณจะมีความสุขได้ คุณ “ต้อง” นั่งสมาธิ, มี Grit, ฝึก Habit หรืออะไรใดๆ ที่มีประโยชน์กับตัวคุณ

มันไม่ต่างอะไรกับการบอกคนอื่นว่าทุกคนที่อยากรวย จงเป็น Day trader เพราะฉันทำได้และฉันทำรวยมาแล้ว โดยไม่สนใจปัจจัยชีวิตของเขา

ผมคิดว่าจริงๆ เรื่องพวกนี้แชร์กันได้ และผมเองก็สอนคอร์สที่แชร์ประสบการณ์การเดินทางผ่านจิตวิทยาหลากหลายรูปแบบจนมาใช้กับการออกแบบซอฟต์แวร์ได้

แต่อยากให้ทำใจว่าสิ่งที่ได้ผลกับเรามันไม่จำเป็นต้องได้ผลกับคนอื่น

จะได้ไม่เผลอยัดเยียด

เราทำได้แค่เสนอทางเลือกใหม่ให้ผู้อื่นเท่านั้นเองครับ เขาจะเลือกมั้ย มันคือสิทธิ์ของเขาอย่างแน่นอน

มันมีคำบอกว่าเราจูงลาไปหาบ่อน้ำได้ แต่บังคับให้ลากินน้ำไม่ได้

ผมเห็นด้วย

และผมอยากจะบอกคนจูงลาทุกคนว่า ไม่จำเป็นต้องโกรธหรือตัดสินลา เวลาที่มันไม่กินน้ำที่เราจูงไป

เพราะมันอาจจะไม่ใช่บ่อน้ำที่เหมาะสำหรับเขาครับ

ดีไม่ดีน้ำนั้นอาจจะดีกับเราแต่เป็นพิษกับเขาก็ได้

เชื่อมั่นว่าลาจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองเสมอครับ

ผมเชื่อในหลักการของ Satir ตัวนึง

“People always do the best they can at any given time. Even destructive or otherwise negative behaviors serve to indicate the best coping possible at that time.”

ผมอยากให้เชื่อสิ่งนี้จากใจจริงครับ แล้วชีวิตของเราจะง่ายขึ้นเยอะ

มันเป็นความเชื่อที่จริงหรือไม่ผมไม่รู้ แต่มันเป็นความเชื่อมีประโยชน์กับผมมากๆ เวลาที่ผมสวมหมวกครู โค้ช หัวหน้าทีม หรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อน สามี ลูก และเกือบทุกๆ บทบาทครับ

--

--

Chris
Chris’ Dialogue

I am a product builder who specializes in programming. Strongly believe in humanist.